“ช็อกโกแลตซีสต์” ทำให้มีบุตรยากจริงมั้ย?

 

“ช็อกโกแลตซีสต์” ทำให้มีบุตรยากจริงมั้ย?

 

“ช็อกโกแลตซีสต์” ทำให้มีบุตรยากจริงมั้ย?

 

ปัญหามีบุตรยากยังคงเป็นปัญหาชีวิตคู่ที่มีมาทุกยุคสมัย โดยมีสาเหตุได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย แต่ในเพศหญิงจะพบค่อนข้างมากกว่าเมื่ออายุเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปัญหาความผิดปกติของรังไข่ อย่างช็อกโกแลตซีสต์ โรคถุงน้ำรังไข่ รวมถึงความผิดปกติของมดลูกอย่างเนื้องอกมดลูก ซึ่งควรต้องรีบเข้าพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการตรวจรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อเพิ่มโอกาสในการมีบุตรตามที่ตั้งใจ

 

ต้นเหตุของการมีบุตรยาก ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ

  • ไข่ หากรังไข่ทำงานไม่สมบูรณ์ ไข่ไม่ตก ไข่ทำงานไม่มีคุณภาพส่งผลให้มีบุตรยาก
  • อสุจิหรือสเปิร์ม หากอสุจิมีจำนวนน้อย ไม่แข็งแรงก็ไม่สามารถปฏิสนธิกับเซลล์ไข่ได้
  • มดลูก หากพบความผิดปกติของมดลูก มีเนื้องอกมดลูกย่อมส่งผลให้มีบุตรยาก

จะเห็นได้ว่าผู้หญิงรับผิดชอบเรื่องการมีบุตรมากกว่าผู้ชาย ปัญหาการมีบุตรยากจึงพบในฝ่ายหญิงมากถึง 40 – 50% ฝ่ายชาย 30% และหาสาเหตุไม่ได้  20 – 30%

 

ว่าที่คุณแม่ผู้เตรียมตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะมีบุตรยากหลายคน อาจเคยได้ยินว่า “ช็อกโกแลตซีสต์” ส่งผลทำให้มีบุตรยากขึ้นนั้น คำถามนี้จริงหรือไม่ วันนี้เราจะมาไขคำตอบกัน แต่ก่อนอื่นมาทำความรู้จักเจ้าโรคนี้กันก่อน ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst) หรือโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คือถุงน้ำในรังไข่ประเภทหนึ่งที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ และสามารถมีการเจริญเติบโตได้จากการที่ได้รับฮอร์โมนในร่างกายมากระตุ้น โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศหญิง เซลล์เหล่านี้จะมีขนาดเป็นจุดเล็ก ๆ สีน้ำตาลคล้ายจุดห้อเลือด ในแต่ละเดือนเมื่อถึงเวลาเป็นประจำเดือนก็จะมีเลือดสะสมและตกค้างก่อตัวเป็นซีสต์โตขึ้น

 

ซีสต์ที่ทำให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์ มักจะเกิดจากซีสต์ที่เป็นโรค เช่น ช็อกโกแลตซีสต์ ซึ่งมักจะส่งผลต่อกลไกการทำงานของรังไข่และทำให้คนไข้มีลูกได้ยากขึ้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดตามตำแหน่งที่เกิดโรค ชนิดแรกคือ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่-เกิดที่รังไข่ ซีสต์ชนิดนี้เมื่อเกิดขึ้นในรังไข่และยังมีขนาดเล็กอยู่จะทำให้ฟองไข่เจริญเติบโตได้ตามปกติ แต่คุณภาพของฟองไข่ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีช็อกโกแลตซีสต์นั้นจะมีสารเคมีบางอย่างที่ทำให้ฟองไข่ที่ตกในรังไข่ข้างด้อยคุณภาพลง และเจริญเติบโตได้น้อยกว่าอีกข้างที่ไม่มีซีสต์

 

และเมื่อซีสต์มีขนาดใหญ่ขึ้นจะทำให้การเจริญเติบโตของฟองไข่เป็นไปได้ยากขึ้น เช่น ถ้าซีสต์มีขนาด 1 ซม. จะเหลือพื้นที่ในรังไข่ให้กับไข่เยอะ ทำให้ไข่มีโอกาสที่จะโตได้ตามปกติ แต่ถ้าขนาดซีสต์ใหญ่มากถึง 5 ซม. พื้นที่ในรังไข่ก็จะเหลือน้อยลง ไข่จะเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ เพราะความดันในรังไข่สูงมาก และอาจทำให้ไข่ไม่ไปตกในข้างที่มีซีสต์เลย เมื่อไข่ไม่ตกในข้างที่มีซีสต์ก็ทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์ลดลงตามไปด้วย

 

ประเภทที่ 2 คือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่-เกิดที่นอกรังไข่ โดยทำให้มีรอยโรคในอวัยวะอื่น ๆ ภายในช่องท้องหรือในมดลูกได้อีกเช่นกัน ฉะนั้นอาจจะทำให้มีพังผืดเกิดขึ้นที่ปีกมดลูกจนทำให้ท่อรังไข่อุดตัน ซึ่งการที่ท่อรังไข่อุดตันนั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไข่กับอสุจิไม่สามารถผสมกันได้ นอกจากนี้ ถ้าเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่และแทรกเข้ามาในชั้นเนื้อกล้ามเนื้อมดลูกแล้ว ทำให้มดลูกมีขนาดที่โตขึ้น มีรูปร่างที่บิดเบี้ยว หรือมีสภาพที่ผิดธรรมชาติไป โอกาสที่ตัวอ่อนจะมาฝังตัวก็ยากขึ้นตามไปด้วย เมื่อตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวที่ผนังมดลูกได้ก็จะทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์ลดลงไปด้วยเช่นกัน

 

เพราะฉะนั้นแล้วไม่ว่าซีสต์จะเกิดขึ้นในรังไข่หรือนอกรังไข่ก็สามารถส่งผลกระทบกับการตั้งครรภ์ได้ทั้งสิ้น เพราะว่าระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงเป็นกลุ่มโรคที่โยงถึงกันอยู่ เมื่อมีการสะสมของเลือดนาน ๆ  สีเลือดจึงเปลี่ยนเป็นสีเข้ม จึงทำให้เกิดลักษณะของเหลวเหนียวข้นสีน้ำตาลเข้มและข้น คล้ายสีและลักษณะของช็อกโกแลต และแทนที่เลือดจะไหลออกมาทางช่องคลอดตามปกติ แต่กลับมีประจำเดือนส่วนหนึ่งไหลย้อนไปทางหลอดมดลูกเข้าไปในช่องท้องแล้วไปฝังตัวที่รังไข่จนทำให้เกิดเป็นถุงน้ำ หรือถุงที่มีเลือดคั่งและไปเจริญเติบโตในอวัยวะต่าง ๆ เช่น อุ้งเชิงกราน ท่อรังไข่ ลำไส้ช่องคลอด มดลูก กระเพาะปัสสาวะ

 

การรักษาโดยทั่วไปจะมี 2 วิธี คือ การใช้ยาและการผ่าตัด โดยการใช้ยา ยาทุกตัวที่ใช้ในการรักษาซีสต์ที่รังไข่นี้จะเป็นยาที่มีฤทธิ์คุมกำเนิดทั้งหมด ทำให้คนไข้ไม่สามารถมีบุตรได้ เนื่องจากโรคนี้อาศัยฮอร์โมนเพศหญิงที่สร้างจากรังไข่ในแต่ละเดือนทำให้มันโตขึ้น ดังนั้นการรักษาโรคนี้ต้องใช้ยาเพื่อยังยั้งไม่ให้ไข่เจริญเติบโต โรคจึงจะสงบลงได้ ซึ่งวิธีนี้ไม่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการมีบุตร

 

ส่วนการผ่าตัด สามารถทำได้ด้วยการส่องกล้องผ่าตัดเข้าไปเพื่อลอกซีสต์ออกมา ซึ่งประโยชน์ของการส่องกล้องผ่าตัดนั้นทำให้เราสามารถตรวจโรคได้ รู้ว่าผลของการตรวจชิ้นเนื้อนี้เป็นซีสต์ธรรมดาหรือเป็นมะเร็ง และจัดการกับซีสต์ได้อย่างตรงจุด ถ้าส่องกล้องเข้าไปแล้วพบรอยโรคอื่น ๆ ก็สามารถทำลายรอยโรคเหล่านั้นได้ ทำให้มดลูก รังไข่ และอวัยวะต่าง ๆ ที่แวดล้อมอยู่ข้างในปลอดโรคไปได้ระยะหนึ่ง และทำให้คนไข้สามารถมีบุตรได้ตามธรรมชาติได้ง่ายขึ้น หรือหากตรวจพบว่าท่อรังไข่อุดตันก็สามารถวางแผนการรักษาหรือผ่าตัดเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการมีบุตรในอนาคตได้ ซึ่งการผ่าตัดแบบนี้จะฟื้นตัวได้ไวและมีแผลขนาดเล็ก

 

แต่การผ่าตัดก็มีผลข้างเคียงและความเสี่ยงจากการผ่าตัดที่คนไข้ต้องนำกลับไปพิจารณาด้วยเช่นกัน เช่น การดมยาสลบ การสอดกล้องในหน้าท้องที่มีพังผืดเยอะซึ่งเกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ อาจจะไปโดนอวัยวะต่าง ๆ ข้างในได้ นอกจากนั้นยังมีอีกข้อควรระวังซึ่งอาจส่งผลต่อการมีบุตร คือ เมื่อเราลอกซีสต์ออกจากรังไข่แล้วจะทำให้เนื้อที่ดีของรังไข่ที่ติดกับผนังซีสต์ออกไปด้วย เมื่อผนังรังไข่หายไปส่วนหนึ่ง จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของรังไข่ ปริมาณฟองไข่ และการโตของไข่ก็อาจจะลดลงตามไปด้วย ถ้าซีสต์มีขนาดเล็กอาจจะลอกง่ายและไม่มีผลกับผนังรังไข่มาก แต่ถ้าซีสต์มีขนาดใหญ่มาก ต้องลอกเนื้อรังไข่ออกไปมากก็อาจจะทำให้รังไข่ผลิตไข่ได้น้อยลงหรือผลิตไม่ได้เลยก็เป็นได้

 

วิธีการรักษาซีสต์ที่เหมาะกับคนไข้แต่ละคนนั้นจะแตกต่างกันไปตามลักษณะของโรคและความต้องการในการรักษา ฉะนั้นใครจะเหมาะสมกับวิธีไหนนั้นจะต้องมาพบแพทย์ตามโรงพยาบาลหรือคลินิกเฉพาะทางเพื่อพูดคุยถึงข้อดีและข้อเสียของแต่ละวิธี และวางแผนการรักษาร่วมกันก่อน หากคนไข้ต้องการมีบุตรแพทย์ก็จะหาวิธีที่ช่วยให้คนไข้ปลอดโรคก่อนและวางแผนสำหรับการมีบุตรต่อไปในอนาคต

 

มักมีความเชื่อว่าช็อกโกแลตซีสต์เป็นโรคที่ประหลาด เพราะเป็นโรคที่มากับความพร้อม สุภาพสตรีที่มีฐานะดี ความรู้ดี อาชีพการงานดี หน้าตาดี มีความพร้อมในทุกด้านมักจะเป็น แต่กับคุณผู้หญิงที่มีคุณสมบัติตรงกันข้ามคือฐานะไม่ค่อยดี ชีวิตค่อนข้างลำบาก ความรู้ไม่ค่อยมากมักจะไม่เกิดโรคนี้ขึ้น แต่จริง ๆ แล้ว องค์ประกอบและปัจจัยต่าง ๆ ของแต่ละคนต่างหากที่เป็นตัวส่งเสริมและเกื้อหนุนโรคนี้ อาจเป็นเพราะ สาว ๆ ที่มีความรู้ดี มีฐานะอาชีพการงานมั่นคงดี มักจะแต่งงานและมีลูกช้า มีบุตรยาก ผิดกับคนที่ไม่ค่อยมีความรู้ ฐานะไม่ค่อยดี สาว ๆ กลุ่มนี้จะวางแผนชีวิตคนละแบบ คือ จะมีลูกเร็วกว่าสาว ๆ กลุ่มแรก ซึ่งการมีลูกเร็วนี่เองที่ทำให้สาว ๆ กลุ่มหลังไม่เสี่ยงต่อการเป็นช็อกโกแลตซีสต์

 

ความเชื่อที่ว่าคนที่เป็นช็อกโกแลตซีสต์ หากมีลูกแล้ว ช็อกโกแลตซีสต์ก็จะหาย ความเชื่อนี้เป็นจริงหรือไม่ ความจริงแล้วคนที่เป็นช็อกโกแลตซีสต์ น่าจะประสบปัญหามีบุตรยากด้วยซ้ำ ความเชื่อนี้อาจมีขึ้นมาก็เพราะว่าคนที่ตั้งท้องฮอร์โมนของผู้หญิงที่เพิ่มขึ้นมากจะกระตุ้นเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่และเมื่อคลอดบุตรแล้วฮอร์โมนจะลดลงทันที มีผลให้เซลล์บุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ฝ่อลงและคุณแม่ที่ให้นมลูก ฮอร์โมนซึ่งกระตุ้นให้สร้างน้ำนมจะมีฤทธิ์ไปกดรังไข่จึงทำให้ฮอร์โมนเพศต่ำมากหรือไม่มี ก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหยุดการเจริญเติบโตของโรค ถุงเลือดจึงไม่โตหรืออาจจะมีขนาดเล็กลง ความเจ็บปวดจึงไม่เกิดขึ้น

 

คนจึงคิดว่าหายจากช็อกโกแลตซีสต์แล้ว จริง ๆ ไม่หาย ก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม ถ้าคลอดลูกแล้ว ลูกหย่านมแม่ก็อาจกลับมามีอาการอีกครั้ง จึงเรียกได้ว่าช็อกโกแลตซีสต์ไม่มีทางหาย แม้คุณจะผ่าตัดรักษาแล้วก็ตามแต่อย่างไรก็มีโอกาสเป็นได้อีก และนี่คือเหตุผลว่าทำไม สาว ๆ ที่ความรู้ไม่ค่อยดี ฐานะไม่ค่อยดีจึงไม่ค่อยมีอาการของช็อกโกแลตซีสต์ เพราะกลุ่มนี้มีลูกเร็วฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงมากจึงไม่กระตุ้นให้โรคกำเริบ นอกจากนี้ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรือที่เราเรียกว่า ช็อกโกแลตซีสต์นี้ไม่ได้เกิดที่รังไข่ได้ที่เดียว สามารถเกิดได้หลายที่และเกิดได้หมดทั้งที่กระเพาะปัสสาวะ ที่ตับก็ได้ด้วยเช่นกัน

 

หากว่าที่คุณแม่มีพังผืดในอุ้งเชิงกราน เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ท่อนำไข่อุดตันหรือถูกทำลาย  มีภาวะไม่ตกไข่หรือไข่ตกช้าเนื่องจากภาวะหรือโรคบางอย่างที่ทำให้ระบบฮอร์โมนผิดปกติไป แพทย์ในโรงพยาบาลและคลินิกเฉพาะทางมักจะแนะนำให้รักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการทำเด็กหลอดแก้วหรือ IVF เป็นวิธีการรักษาโรคมีบุตรยากด้วยวิธีการปฏิสนธิภายนอกร่างกายในหลอดทดลอง จากนั้นจึงนำตัวอ่อนที่ได้มาเพาะเลี้ยงต่อจนอายุ 3-5 วัน จึงนำกลับเข้าสู่ร่างกายฝ่ายหญิง เพื่อให้เกิดการฝังตัวและตั้งครรภ์ต่อไป IVF หรือเด็กหลอดแก้วก็เป็นนวัตกรรมที่มีความทันสมัย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่มีบุตรยากสามารถมีบุตรได้อย่างที่ต้องการ

 

ส่วนที่ไม่แนะนำให้เข้ารับการรักษาโดยการฉีดเชื้อหรือวิธีที่เรียกว่า IUI จะเป็นกลุ่มฝ่ายหญิงที่มีท่อนำไข่หรือปีกมดลูกอุด ตันทั้งสองข้าง หรือไม่มีท่อนำไข่เหลือแล้ว มีพังผืดในอุ้งเชิงกราน จากภาวะเยื้อมดลูกเจริญผิดที่ระดับรุนแรง เพราะสาเหตุที่อาจทำให้การทำ IUI ไม่สำเร็จนั้น อาจมาจากฝ่ายหญิงมีท่อนำไข่ข้างเดียว เพราะบางรอบเดือนไข่อาจตกในข้างที่ท่อนำไข่ตัน ทำให้ไข่ไม่สามารถตกเข้าท่อนำไข่และปฏิสนธิได้นั่นเอง

 

ปัจจุบันการรักษาภาวะมีบุตรยากมีหลายวิธีด้วยกัน โดยเบื้องต้นแพทย์ผู้ชำนาญการจะแนะนำให้ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง มีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ไข่ตกเพื่อให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากที่สุด แต่หากยังไม่ประสบความสำเร็จก็มีการใช้เทคนิคเข้ามาช่วยในการมีบุตร ได้แก่ การฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง การการทำเด็กหลอดแก้ว หรือการปฏิสนธินอกร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น IVF IUI หรือ ICSI/อิ๊กซี่ ซึ่งความสำเร็จขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะอายุและสุขภาพของคุณพ่อและคุณแม่ ดังนั้นการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานจึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการมีบุตร เพราะหากประสบกับภาวะมีบุตรยากจากการเป็นช็อกโกแลตซีสต์หรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่จะได้ทำการรักษาได้ทันท่วงที

 

อ้างอิง

 https://bit.ly/3A5OXhu

https://www.amarinbabyandkids.com/health/parent-health/chocolate-cyst/

https://bit.ly/3y0US4B

https://www.bangkokhospital.com/content/elderly-have-cysts-risk-infertility 

 

 

สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาภาวะมีบุตรยาก

 กับศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากจินตบุตร