ทำความรู้จัก...การทำเด็กหลอดแก้วหรือ IVF คืออะไร?
การรักษาปัญหาภาวะมีบุตรยากในปัจจุบันได้นำเอาวิธีการทางการแพทย์เข้ามาเพิ่มโอกาสของการปฏิสนธิ ทดแทนวิธีทางธรรมชาติที่ไม่ประสบความสำเร็จ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อยากตั้งครรภ์ แต่มีบุตรยาก ปล่อยตามธรรมชาติมานานแต่ยังไม่ตั้งครรภ์สักที ปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางการแพทย์มากมายที่เข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญในวิธีแก้มีบุตรยาก เช่น การฉีดน้ำเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง หรือที่เรียกว่า IUI , ICSI หรืออิ๊กซี่ แต่วิธีที่ได้รับความนิยมสำหรับผู้มีบุตรยากและมีการพูดถึงมาก หลายคนคงจะคุ้นหูกับวิธีการทำเด็กหลอดแก้ว ที่เรียกว่า IVF วันนี้เราจะนำข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการมำ IVF นี้มาแนะนำให้ผู้มีบุตรยากทุกคนรู้จักมากขึ้น
การทำเด็กหลอดแก้วหรือ In vitro fertilization (IVF) คือ วิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากโดยอาศัยการปฏิสนธินอกร่างกาย ซึ่งจะมีการฉีดยากระตุ้นไข่และเก็บไข่ จากนั้นจะนำไข่และอสุจิมาใส่รวมกัน แล้วให้อสุจิทำหน้าที่ของตัวเองในการเจาะไข่เข้าไปจนเกิดการปฏิสนธิขึ้นตามธรรมชาติ การทำเด็กหลอดแก้วนั้นเหมาะสำหรับคู่แต่งงานที่มีบุตรยาก ฝ่ายหญิงมีปัญหาที่ท่อนำไข่และฝ่ายชายมีปัญหาเกี่ยวกับอสุจิ รวมทั้งยังเหมาะกับผู้ที่รักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการทำ IUI แล้วแต่ไม่สำเร็จ และคุณพ่อคุณแม่ที่มีบุตรยาก พยายามมีบุตรเกินระยะเวลา 1 ปีแล้ว หรือคุณแม่ที่อยากตั้งครรภ์แต่อายุมากกว่า 35 ปีและพยายามที่จะมีบุตรเกินระยะเวลา 6 เดือนแต่ยังไม่มีบุตรก็ควรจะเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาการมีบุตรยากด้วยวิธี IVF
หลักการของการทำเด็กหลอดแก้วก็คือ
· การใช้ยากระตุ้นให้มีการตกไข่หลาย ๆ ใบและให้ไข่สุกพร้อม ๆกัน
· เก็บไข่ที่ได้รับการกระตุ้นแล้วออกมาเพื่อรอการผสม
· การคัดแยกตัวอสุจิออกจากน้ำอสุจิเพื่อรอสำหรับการผสมกับไข่
· ไข่กับอสุจิผสมกันในห้องปฏิบัติการของแพทย์เพื่อให้ได้ตัวอ่อน
· เลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการของแพทย์จนถึงระยะที่ตัวอ่อนสามารถฝังตัวได้
· ย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่มดลูก
· แช่แข็งตัวอ่อนส่วนที่เหลือจากการย้ายตัวอ่อน
ขั้นตอนที่หนึ่ง วันที่สองหรือวันที่สามของการมีประจำเดือน จะต้องเริ่มมาตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายเป็นการประเมินการทำงานของรังไข่และตรวจอัลตราซาวด์เพื่อนับจำนวนไข่อ่อนที่ร่างกายผลิตออกมาในรอบประจำเดือนนั้น หลังจากนั้นจะใช้ยากระตุ้นไข่ โดยทั่วไปยาที่ใช้กระตุ้นให้มีไข่ตกหลาย ๆ ใบจะเป็นยาฉีดกระตุ้นไข่ โปรแกรมการกระตุ้นไข่มีหลายแบบ การเริ่มต้นฉีดยาวันที่สองหรือวันที่สามของรอบประจำเดือน หลังจากที่ได้ทำการตรวจวัดระดับฮอร์โมนในร่างกายเพื่อประเมินการทำงานของรังไข่แล้ว จึงเริ่มต้นด้วยขนาดยากระตุ้นที่เหมาะสมกับแต่ละคน โดยพิจารณาจากผลฮอร์โมนและการตรวจอัลตราซาวด์่ร่วมกับอายุของฝ่ายหญิง
สำหรับชนิดของยาฉีดเพื่อกระตุ้นไข่นั้นโดยทั่วไปจะมีประมาณ 2-3 ชนิด โดยตัวแรกจะเป็นยากระตุ้นให้การเจริญเติบโตของไข่หลาย ๆ ใบก่อน (Recombinant FSH) เป็นระยะเวลาประมาณ 5 วันจึงเริ่มต้นการฉีดยาตัวที่สองซึ่งเป็นยากันไม่ให้ไข่ตกก่อนเวลา (GnRH antagonist) เนื่องจากมีหลายใบ ถ้าไม่มียากันไข่ตก ไข่จะตกก่อนที่จะเก็บได้ ระยะเวลาที่เหมาะสม สำหรับการฉีดยากระตุ้นไข่ต่อเนื่องเป็นเวลา 10-12 วัน ในระหว่างนี้จะมีการตรวจระดับฮอร์โมนและการตรวจอัลตราซาวด์เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของไข่ประมาณ 3 ครั้ง และตัดสินวันที่จะเก็บไข่ออกมาจากร่างกาย โดยพิจารณาจากขนาดไข่เป็นหลัก โดยทั่วไปขนาดไข่ที่เหมาะสมสำหรับการเก็บมาผสมนั้นควรจะมีขนาดประมาณ 18 ม.ม. เป็นต้นไป จึงเริ่มฉีดยาตัวสุดท้าย (hCG) เพื่อให้ไข่สุกพร้อม ๆ กันและตกในอีก 36 ชั่วโมงถัดมา
มาถึงขั้นตอนที่สอง การเก็บไข่ออกจากร่างกายโดยผ่านทางช่องคลอด แพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กที่แนบหัวตรวจอัลตราซาวด์ขนาดเล็ก ๆ เพื่อใช้สำหรับการตรวจหาไข่ขณะเจาะดูด การเก็บไข่จะทำภายใต้การใช้ยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือด หลังจากคุณแม่ที่เข้ารับการรักษาการมีบุตรยากหลับสนิท จึงทำการดูดไข่ออกมาโดยใช้อัลตราซาวด์เป็นตัวช่วยหาไข่ซึ่งใช้เวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง สารน้ำที่ถูกดูดออกมาจะถูกนำมาตรวจหาไข่ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ เมื่อพบแล้วจึงทำการเก็บไข่ที่ได้มาเลี้ยงในน้ำยาเลี้ยงไข่เพื่อเตรียมสำหรับการผสม
ขั้นตอนสาม การเก็บไข่และการเก็บน้ำเชื้ออสุจิ ในช่วง 36 ชั่วโมงหลังการฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก โดยจะใช้เวลาราว 1-2 ชั่วโมง หลังการฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก 36 ชั่วโมง จะเริ่มกระบวนการเก็บไข่ โดยใช้อัลตราซาวด์นำเพื่อให้เห็นฟองไข่ชัดเจน และใช้เข็มขนาดเล็กสอดผ่านผนังช่องคลอด เข้าไปในฟองไข่และดูดเก็บไข่ออกมา ตลอดกระบวนการ แพทย์จะให้ยาสลบ คุณแม่จึงแทบไม่รู้สึกเจ็บปวดใด ๆ ใช้เวลาในการเก็บไข่ประมาณ 15-20 นาที ในนวันเดียวกับวันเก็บไข่ คุณพ่อก็จะมาเก็บน้ำเชื้ออสุจิ โดยปกติแล้วแนะนำให้ฝ่ายชายเก็บอสุจิในวันเดียวกับวันเก็บไข่ที่โรงพยาบาลหรือคลินิก แต่ถ้าหากฝ่ายชายไม่สามารถเก็บอสุจิในวันดังกล่าวได้ ก็สามารถมาเก็บอสุจิก่อน แล้วแช่แข็งน้ำเชื้อไว้ล่วงหน้า และละลายมาใช้ในวันเก็บไข่
วิธีการเก็บน้ำเชื้ออสุจิที่ดีที่สุดคือการช่วยตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้น้ำเชื้อปนเปื้อนกับของเหลวอื่น ๆ ของฝ่ายหญิง (เช่น น้ำลาย น้ำหล่อลื่นช่องคลอด) ซึ่งอาจมีแบคทีเรียปะปนอยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการปฏิสนธิ (fertilization) หรือการเพาะเลี้ยงได้ และหลังจากที่ฝ่ายชายเก็บน้ำอสุจิเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ส่งน้ำเชื้อให้ผู้นักวิทยาศาสตร์ที่รออยู่ในห้องปฏิบัติการ เพื่อเตรียมน้ำอสุจิต่อไป นักวิทยาศาสตร์จะนำน้ำอสุจิ มาพักไว้ประมาณ 30 นาที เพื่อให้น้ำอสุจิละลายตัวให้เหลวก่อน จากนั้นจะทำการปั่นล้างเพื่อเอาอสุจิที่ไม่เคลื่อนไหวและเศษเซลล์ต่างในน้ำอสุจิออก
ทำการวิเคราะห์คุณภาพน้ำอสุจิเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้แพทย์ตัดสินใจว่าจะทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี IVF หรือ ICSI โดยแพทย์จะเลือกการทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี IVF หากผลน้ำอสุจิเป็นปกติ แต่หากผลอสุจิมีคุณภาพต่ำกว่าค่ามาตรฐาน แพทย์จะแนะนำให้ใช้วิธี ICSI เพื่อเพิ่มโอกาสให้ไข่และอสุจิปฏิสนธิได้มากขึ้น สำหรับการปฏิสนธิด้วยวิธี IVF อสุจิจะเข้าไปปฏิสนธิกับไข่เอง ส่วนวิธี ICSI นักวิทยาศาสตร์จะคัดเลือกอสุจิตัวที่แข็งแรงหนึ่งตัวฉีดเข้าไปในไข่ที่โตเต็มวัยโดยตรงเพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ วิธี ICSI นี้ใช้เวลานานกว่าวิธี IVF และต้องทำโดยนักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญ
ในขั้นตอนที่สี่คือการผสมไข่กับอสุจิ ในกรณีของการทำเด็กหลอดแก้วแบบมาตรฐานนั้น แพทย์จะปล่อยให้ตัวอสุจิว่ายน้ำไปผสมกับไข่เอง โดยใส่จำนวนตัวอสุจิให้มากพอสำหรับไข่และทิ้งระยะเวลาไว้ให้เหมาะสม หลังจากนั้นแพทย์จึงนำไข่มาตรวจการผสมว่าเป็นตัวอ่อนหรือไม่ ซึ่งวิธีนี้จะไม่สามารถใช้ได้กับฝ่ายชายที่มีปริมาณน้ำเชื้อน้อยหรือคุณภาพของอสุจิน้อยกว่าค่ามาตรฐาน ซึ่งเสี่ยงสูงต่อการที่ไข่จะไม่ได้รับการผสมเลย ดังนั้นในกรณีที่ฝ่ายชายมีปัญหาน้ำเชื้ออ่อนร่วมด้วย ควรใช้วิธีการทำเด็กหลอดแก้วแบบ ICSI มากกว่า IVF
จากนั้นในขั้นตอนที่ห้า แพทย์จะทำการเลี้ยงตัวอ่อนในตู้เลี้ยงตัวอ่อนที่ควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดการแบ่งเซลล์ จากหนึ่งเซลล์เป็นสองเซลล์ สี่เซลล์ แปดเซลล์ตามลำดับ หลังจากนั้นตัวอ่อนสามารถได้รับการคัดเลือกเพื่อย้ายกลับเข้ามดลูก หรือเลี้ยงต่อเพื่อรอการเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนระยะบลาสโตซีสต์ (Blastocyst)
มาถึงขั้นตอนที่หก การย้ายตัวอ่อนกลับเข้าโพรงมดลูกนั้นเหมือนการตรวจภายในธรรมดา ไม่จำเป็นต้องได้รับยาระงับความเจ็บปวดหรือจำเป็นต้องหลับ ยกเว้นบางกรณีเช่นฝ่ายหญิงมีปัญหาไม่สามารถใส่เครื่องมือเข้าปากช่องคลอดได้หรือมีความกังวลมาก การใช้ยาให้หลับจะทำให้การย้ายตัวอ่อนทำได้อย่างราบรื่นมากขึ้นได้ การย้ายตัวอ่อนเริ่มจากการใช้สายย้ายตัวอ่อนขนาดเล็กมากทำการดูดตัวอ่อนและสอดผ่านปากมดลูกเพื่อวางตัวอ่อนไว้บนเยื่อบุโพรงมดลูก โดยทั่วไปการย้ายตัวอ่อนโดยการใช้อัลตราซาวด์เพื่อหาตำแหน่งวางตัวอ่อนที่เหมาะสมที่สุดนั้นจะทำให้เพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์มากกว่าการย้ายตัวอ่อนโดยไม่ใช้การอัลตราซาวด์ เนื่องจากโครงสร้างทางกายวิภาคของฝ่ายหญิงมีความแตกต่างกัน
แพทย์จะย้ายตัวอ่อนกลับจำนวนมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสภาพร่างกายของฝ่ายหญิงและคุณภาพตัวอ่อน หากเป็นตัวอ่อนที่ได้รับการตรวจโครโมโซมและผลปกติ แพทย์จะแนะนำให้ย้ายตัวอ่อนกลับทีละหนึ่งตัว เนื่องจากตัวอ่อนที่คุณภาพดี และมีโครโมโซมที่ปกติมีโอกาสตั้งครรภ์สูงอยู่แล้ว
ขั้นตอนสุดท้ายซึ่งก็คือขั้นตอนที่เจ็ดเป็นการแช่แข็งตัวอ่อนที่เหลือจากการย้ายตัวอ่อน ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยให้โอกาสในการตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้วในปัจจุบันสูงกว่าในอดีตค่อนข้างมาก ด้วยวิธีการแช่แข็งตัวอ่อนที่ได้รับการพัฒนามาเป็นเวลานาน ปัจจุบันเราสามารถเก็บรักษาตัวอ่อนไว้ได้นานหลายปี สามารถกลับมาย้ายตัวอ่อนในภายหลังได้เป็นเวลาหลายปี โดยที่ยังมีโอกาสในการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ต้องกระตุ้นไข่ใหม่ เยื่อบุที่เจริญพัฒนาขึ้นมาในรอบย้ายตัวอ่อนแช่แข็งจะมีการเจริญเติบโตที่เหมือนธรรมชาติ ซึ่งต่างกับเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญขึ้นมาในรอบกระตุ้นไข่ซึ่งมีโอกาสที่จะเจริญเติบโตมากเกินไปตามการเจริญเติบโตของไข่ได้ ดังนั้นการย้ายตัวอ่อนสดจึงเสี่ยงที่เยื่อบุจะมีการเจริญพัฒนาที่มากเกินไปตามการเจริญเติบโตของไข่ ทำให้ไม่ค่อยเหมาะสมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน ดังนั้นการย้ายตัวอ่อนแช่แข็งจึงอาจจะให้ผลสำเร็จมากกว่าการย้ายตัวอ่อนสด ในกรณีที่มีการกระตุ้นของไข่จำนวนหลาย ๆ ใบ
อัตราความสำเร็จความสำเร็จในการทำ IVF นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น อายุ สุขภาพ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการรักษาการมีบุตรยากเช่น การตรวจโครโมโซมตัวอ่อน และย้ายตัวอ่อนที่ปกติ ได้เข้ามามีส่วนช่วยในการเพิ่มอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์สามารถเพิ่มอัตราความสำเร็จได้ถึง 70% นอกจากนี้ ผลข้างเคียงจากการทำ IVF มีเพียงเล็กน้อย โดยอาจจะสร้างความวิตกกังวลจนทำให้นอนไม่หลับในระหว่างการรักษาได้ ฝ่ายหญิงอาจมีอาการไม่สบายท้อง ท้องอืด น้ำหนักขึ้นในระหว่างที่กระตุ้นไข่ได้ แต่อาการเหล่านี้จะหายไปหลังจากที่ฝ่ายหญิงมีประจำเดือนและจะไม่มีผลข้างเคียงในระยะยาว ทั้งนี้ การทำ IVF มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้อีกเช่น ภาวะรังไข่ตอบสนองต่อการกระตุ้นไข่มาก (Ovarian Hyperstimulation Syndrome (OHSS), เลือดออกหรือติดเชื้อหลังการเก็บไข่, มีโอกาสตั้งครรภ์แฝด เป็นต้น การเลือกโรงพยาบาลหรือคลินิก IVF ที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละราย ตามจำนวนไข่ เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนให้น้อยที่สุด
ส่วนวิธีการเตรียมตัวก่อนและหลังทำ IVF แบบง่าย ๆ ของคุณพ่อคุณแม่ที่อยากตั้งคครรภ์ แต่มีบุตรยากก็คือ ช่วงก่อนการทำ IVF คุณพ่อคุณแม่ต้องพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและตรวจร่างกายเบื้องต้น รวมถึงวินิจฉัยปัจจัยต่าง ๆ ว่าสามารถทำ IVF ได้หรือไม่ เช่น การทำงานของรังไข่ ตรวจคัดกรองภาวะติดเชื้อ ทดสอบโพรงมดลูก วิเคราะห์คุณภาพและความผิดปกติของน้ำอสุจิ เป็นต้น การตรวจต่าง ๆ เหล่านี้ก็เพื่อให้มั่นใจว่าพร้อมทำ IVF ได้ ส่วนหลังทำ IVF นั้น คุณแม่ทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ พยายามไม่เครียดไม่กังวล และควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากหรือกระทบกระแทกบริเวณท้อง เช่น การยกของหนัก การออกกำลังกายหักโหม ขึ้นลงบันได รวมถึงเพศสัมพันธ์ รวมถึงงดรับประทานยานอกเหนือจากแพทย์สั่งด้วย
มักมีคำถามในเชิงกังวลจากคุณแม่ที่ทำการย้ายตัวอ่อนว่า หลังใส่ตัวอ่อนว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร โดยหลังจากย้ายตัวอ่อนแพทย์จะแนะนำว่าให้นอนพักประมาณ 15-30 นาที เพื่อเป็นการให้คนไข้รู้สึกได้พัก แต่จริง ๆ แล้ว ข้อมูลทางการแพทย์มีการศึกษาวิจัยแล้วชัดเจนว่า การที่นอนนิ่ง ๆ หรือว่าการลุกเดินเลยหลังใส่ไม่ได้มีผลต่อการติดของตัวอ่อน แต่ถ้าหากมีความกังวลสามารถนอนพักก่อนได้ และหลังจากย้ายตัวอ่อนแล้วก็สามารถเดินและใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่ก็ไม่ควรทำกิจกรรมที่ผาดโผน หรือกิจกรรมหนัก ๆ หรือเดินเยอะเกินไป การทำกิจวัตรประจำวันก็สามารถทำได้เลย ไม่ส่งผลต่อการติดของตัวอ่อน แต่ขึ้นอยู่ที่ความสามารถในการเกาะของตัวอ่อน และความสามารถของเส้นเลือดที่มาเลี้ยงของคุณแม่อยากตั้งครรภ์แต่ละคนด้วย
อ้างอิง
https://www.phyathai-sriracha.com/pytsweb/index.php?page=modules/knowledgepage&knowid=431
https://www.facebook.com/primefertilitycenter/photos/a.2174877116168150/3234774900178361/
https://thaisuperiorart.com/th/news-and-articles/3718/
https://www.bangkokhospital.com/content/ivf-and-icsi
https://www.bumrungrad.com/th/treatments/in-vitro-fertilization-ivf
สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาภาวะมีบุตรยาก
กับศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากจินตบุตร