การออกกำลังกายอย่างไร...ช่วยให้ตั้งครรภ์ ลดภาวะการมีบุตรยาก?

 

การออกกำลังกายอย่างไร...ช่วยให้ตั้งครรภ์ ลดภาวะการมีบุตรยาก?

 

การออกกำลังกายอย่างไร...ช่วยให้ตั้งครรภ์ ลดภาวะการมีบุตรยาก?

 

 

ปัญหาเรื่องการมีบุตรยากนั้นเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยขึ้น หากเทียบกับเมื่อก่อนแล้วปัญหาการมีบุตรยากนั้นเรียกได้ว่ามีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป กว่าว่าที่คุณพ่อคุณแม่จะเก็บเงิน แต่งงาน พร้อมมีครอบครัวอายุก็เข้าสู่เลขหลัก 3 แล้ว แต่ปัญหาเรื่องการมีบุตรยากนั้นถือเป็นเรื่องของคนสองคน ดังนั้นเมื่อมีปัญหาก็ควรจะจูงมือกันมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือที่คลินิกเฉพาะทางเพื่อตรวจหาสาเหตุและวางแผนการรักษาอย่างตรงจุด

 

 ภาวะมีบุตรยากหมายถึงการที่คู่สมรสมีเพศสัมพันธ์กันโดยไม่ได้คุมกำเนิด และมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 3-4 ครั้งเป็นระยะเวลา 1 ปี แล้วยังไม่ตั้งครรภ์ แต่ถ้าหากเรารู้อยู่แล้วว่าตัวเองมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีบุตรยากเช่น ฝ่ายหญิงที่มีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เคยได้รับอุบัติเหตุหรือผ่าตัดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ สามารถมาปรึกษาแพทย์ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ครบ 1 ปีก็ได้ เพราะสาเหตุที่แท้จริงบางทีก็ไม่ได้เริ่มที่ฝ่ายหญิงเสมอไป

 

 การแต่งงานช้าลงหรืออายุที่มากขึ้นนั้นอาจไม่ใช่เหตุผลหลักของการมีบุตรยาก แต่ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการมีบุตรยากมาจากหลายสาเหตุ เช่น การใช้ชีวิตประจำวัน หรือไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ มีความเครียดสะสม มีปัญหาน้ำหนักตัว ปัญหาสุขภาพของฝ่ายชายและฝ่ายหญิง

 

หากพบว่าตัวเองประสบปัญหาภาวะมีบุตรยาก คู่สมรสควรปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเสียใหม่ คือ ควรงดหรือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ อดนอน เครียด เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลทำให้รังไข่เสื่อมเร็วและเชื้ออสุจิไม่แข็งแรง จากนั้นควรปรับพฤติกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพ เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารให้ครบหมู่ โดยเฉพาะผู้หญิงควรเสริมวิตามินจำพวกโฟเลตและธาตุเหล็ก ที่ช่วยเพิ่มปริมาณการหมุนเวียนของเลือดไปหล่อเลี้ยงมดลูกและรังไข่มากขึ้น ซึ่งภาวะโภชนาการในการเตรียมความพร้อมก่อนการมีบุตรก็มีความสำคัญมากเช่นกัน

 

นอกจากนี้การตรวจหาสาเหตุของการมีบุตรยาก ทั้งในว่าที่คุณพ่อคุณแม่ รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการมีบุตรยาก การรับประทานอาหารที่เหมาะสม ระดับวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกายเพื่อกระตุ้นให้เกิดความพร้อมทั้งภายในและภายนอก และเพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้ผู้มีภาวะมีบุตรยากได้มากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ การดูแลร่างกายให้พร้อมมีบุตรสำหรับผู้มีบุตรยากยังอยู่ที่การออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอด้วย

 

การออกกำลังกายสำคัญต่อภาวะเจริญพันธุ์มากกว่าที่คิด แต่หลายคนมักจะมองข้ามการออกกำลังกายไป อาจด้วยเพราะว่ามีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือประจำเดือนปกติดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าจะตั้งครรภ์สำเร็จได้ทั้งหมด

 

การจะตั้งครรภ์ให้สำเร็จนั้นมีอะไรมากกว่าน้ำหนักตัวที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยการออกกำลังกายช่วยให้ระบบเผาผลาญและการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้รังไข่ผลิตไข่ได้ดีขึ้นด้วย การเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอยังช่วยให้ระบบการเจริญพันธุ์เข้าที่เข้าทาง ด้วยการกระตุ้นต่อมไร้ท่อต่าง ๆ ซึ่งผลิตฮอร์โมนภาวะเจริญพันธุ์ที่สำคัญให้ทำงานดีขึ้น การทำให้ร่างกายเหงื่อออกบ้างยังช่วยลดความเครียด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการตั้งครรภ์มาก ๆ

 

การออกกำลังกายด้วยการเดินเร็ว เป็นประจำทุกวัน จะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ แต่คุณอาจไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายอย่างหนัก เช่น วิ่งมาราธอน เนื่องจากมีงานวิจัยที่พบว่า การออกกำลังกายที่หนักจนเกินไป อาจส่งผลต่อระยะเวลาในการตั้งครรภ์ของผู้หญิงที่มีน้ำหนักปกติ แต่สำหรับผู้หญิงที่อ้วนหรือมีน้ำหนักเกิน การออกกำลังกายหนักจนเกินไป จะไม่ส่งผลต่อระยะเวลาในการตั้งครรภ์

 

การออกกำลังกายในระดับปานกลาง ก็เพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ในกลุ่มผู้มีบุตรยาก โดยงานวิจัยได้ศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้หญิงที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ และได้ออกกำลังกายอย่างหนัก 5 ชั่วโมงหรือมากกว่า 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์  ผลการวิจัยพบว่ามีโอกาสน้อยกว่า 42% ที่จะตั้งครรภ์ในเดือนที่กำหนด เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ออกกำลังกายเลย

 

อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายที่เกินความเหมาะสม ยิ่งออกกำลังกายอย่างหนักมากเท่าไหร่ ก็จะมีโอกาสที่จะยืดระยะเวลาในการตั้งครรภ์มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งอาจส่งผลให้ตั้งครรภ์ช้ากว่าที่ตั้งใจไว้ การออกกำลังกายอย่างหนักที่ว่า หมายถึงการวิ่ง เต้นแอโรบิค ยิมนาสติก  ว่ายน้ำ และปั่นจักรยานอย่างหนัก ส่วนการออกกำลังกายในระดับปานกลางได้แก่ การเดินเร็ว การเดิน การปั่นจักรยาน และการทำสวน ดังนั้นถ้าคุณเป็นคนที่ออกกำลังกายอย่างหนักเป็นประจำ ลองเปลี่ยนเป็นระดับปานกลางเพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์มากขึ้น

 

การออกกำลังกายอย่างหนักมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน อาจทำให้ฮอร์โมนขาดสมดุล สารเอ็นดอร์ฟิน (endorphin) สามารถกดระดับฮอร์โมนกระตุ้นการทำงานของรังไข่ (follicle-stimulating hormone; FSH) ฮอร์โมนลูทิไนซิง (luteinizing hormone; LH) ซึ่งผลิตโดยต่อมใต้สมอง และมีหน้าที่ช่วยในการผลิตไข่ ฮอร์โมนเอสตราไดอัล (estradiol; E2) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (progesterone; P) ได้ ซึ่งจะทำให้ตั้งครรภ์ได้สำเร็จยากขึ้น แถมยังอาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะแท้งบุตรอีกด้วย และการออกกำลังกายอย่างหนักยังทำให้โปรตีนในกล้ามเนื้อถูกทำลาย และสร้างแอมโมเนีย ซึ่งขัดขวางการตั้งครรภ์ได้ โดยความเสี่ยงเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นตามความหนักและระยะเวลาของการออกกำลังกาย

 

แล้วการออกกำลังกายแบบไหนเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีบุตรยากอยากให้อ่านตรงนี้ การออกกำลังกายที่พอดี คือ ประมาณ 30-45 นาทีต่อวัน แต่แตกต่างกันไปโดยสามารถดูได้จากน้ำหนักตัวของตัวเองดังนี้

 • ถ้าน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ ให้ออกกำลังกายเพียงวันละ 1 ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น ไม่ควรออกกำลังชนิดสำหรับเข้าแข่งขันกีฬาหรือเข้าคอร์สฟิตเนสหนัก ๆ ถ้าประจำเดือนยังไม่ปกติ หรือยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ภายในไม่กี่เดือน ควรลดเวลาการออกกำลังกายลงอีก เพราะการออกกำลังกายที่หนักเกินไปอาจจะไม่เปลี่ยนค่าดัชนีมวลกาย แต่จะเพิ่มความเครียดให้ร่างกาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนภาวะเจริญพันธุ์ได้

 • ถ้าน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ เริ่มต้นด้วยการกินอาหารให้ได้ 2,400-3,500 แคลอรีต่อวัน เพื่อให้น้ำหนักขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือมีไขมันในร่างกายมากกว่าร้อยละ 12 แล้วออกกำลังกายเพียง 3 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น เพื่อเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ ซึ่งการออกกำลังกายที่แนะนำคือ โยคะ

 • ถ้าน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์ปกติ ควรลดปริมาณแคลอรีที่บริโภคต่อวันลง แล้วออกกำลังกายเพื่อให้น้ำหนักกลับมาอยู่ในช่วงเกณฑ์ปกติ โดยการออกกำลังกายที่ว่าอาจจะเป็น คาดิโอ 60 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ ออกกำลังกายชนิดที่เสริมสร้างความแข็งแรง 30 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยค่อยๆ เพิ่มความหนักของการออกกำลังกายขึ้น เพื่อป้องกันการหักโหม ซึ่งจะส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ได้เช่นกัน

 

ส่วนถ้ากำลังอยู่ระหว่างการรักษาภาวะมีบุตรยาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาการออกกำลังกายที่เหมาะสม เพราะการออกกำลังกายหนักๆ  อาจส่งผลกระทบต่อรังไข่ที่ผ่านการกระตุ้นได้

 

ออกกำลังกายช่วยบรรเทาความเครียดได้ด้วย เพราะแม้ว่าความเครียดอาจจะไม่ส่งผลโดยตรงที่ทำให้มีบุตรยาก แต่ความคิดก็ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น กินอาหารที่ไม่ดี ดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะส่งผลต่อโอกาสในการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายสามารถช่วยบรรเทาความเครียดได้ เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกาย ดังนั้นผู้มีบุตรยากควรชวนกันไปออกกำลังกาย และทำกิจกรรมที่บรรเทาความเครียด

 

นอกจากนี้ การออกกำลังกายช่วยให้ หลับสบายขึ้น การนอนหลับอาจไม่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์โดยตรง แต่ถ้าคุณนอนไม่พอสามารถส่งผลต่อการตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากมีงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ  the American Journal of Epidemiology ได้แนะนำว่า ผู้หญิงที่นอนหลับน้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อคืนมีแนวโน้มว่าจะมีน้ำหนักขึ้น ซึ่งภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนจะส่งผลต่อโอกาสในการตั้งครรภ์

 

แต่ถ้าออกกำลังก็แล้วดูแลตัวเองก็แล้วลูกน้อยยังไม่มาเสียที ว่าที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องลองพิจารณาทางเลือกเป็นวิทยาการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลและคลินิกเฉพาะทางเข้าช่วยด้วย โดยในปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่ช่วยรักษาการมีบุตรยาก วิธีที่ได้รับความนิยมสำหรับผู้มีบุตรยากและมีการพูดถึงมาก หลายคนคงจะคุ้นหูกับวิธีการทำเด็กหลอดแก้วที่เรียกว่า IVF โดยการนำไข่และเชื้ออสุจิที่สมบูรณ์ออกมาผสมด้านนอกที่มีสารเลี้ยงตัวอ่อนทำให้เกิดการปฏิสนธิ จากนั้นจะเกิดตัวอ่อนนำกลับไปใส่ในโพรงมดลูกเพื่อฝังตัวและเติบโตในครรภ์ พร้อมที่จะตั้งครรภ์ต่อไป

 

นอกจากนั้นก็จะมีวิธี IUI และ ICSI หรือที่เรียกว่าอิ๊กซี่ที่เป็นวิธีสำหรับคุณพ่อและคุณแม่ที่ปัญหาภาวะมีบุตรยากในระดับที่สูงขึ้นไปอีก และต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีเฉพาะมากขึ้น ซึ่งรายละเอียดราคาต่าง ๆ จะแตกต่างกันไปในแต่ละวิธีทางการแพทย์ แนะนำให้ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ปรึกษาแพทย์จากโรงพยาบาลและคลินิกต่าง ๆ เพื่อได้รับข้อมูลที่ถูกต้องก่อนการตัดสินใจรักษาภาวะมีบุตรยากอีกครั้ง 

 

 

อ้างอิง

https://bit.ly/3AawyA0

https://bit.ly/3a2Q2Mw

https://www.sanook.com/women/154877/

 

 

สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาภาวะมีบุตรยาก

กับศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากจินตบุตร