ผู้มีบุตรยากฟังทางนี้...มารู้จักขั้นตอนและเรื่องน่ารู้ของการทำ ICSI กันเถอะ!

 

ผู้มีบุตรยากฟังทางนี้...มารู้จักขั้นตอนและเรื่องน่ารู้ของการทำ ICSI กันเถอะ!

 

ผู้มีบุตรยากฟังทางนี้...มารู้จักขั้นตอนและเรื่องน่ารู้ของการทำ ICSI กันเถอะ!


การรักษาปัญหาภาวะมีบุตรยากในปัจจุบันได้นำเอาวิธีการทางการแพทย์เข้ามาเพิ่มโอกาสของการปฏิสนธิ ทดแทนวิธีทางธรรมชาติที่ไม่ประสบความสำเร็จ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อยากมีบุตร แต่มีบุตยาก ปล่อยตามธรรมชาติมานานแต่ยังไม่ตั้งครรภ์สักที ปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางการแพทย์มากมายที่เข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญในวิธีแก้มีบุตรยาก เช่น  ICSI หรืออิ๊กซี่ ก็เป็นหนึ่งในวิธีรักษาภาวะผู้มีบุตรยากยอดนิยมอีกวิธีหนึ่งซึ่งแพทย์ในโรงพยาบาลและคลินิกเฉพาะทางแนะนำให้ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ที่อยากตั้งครรภ์ ลองมาแล้วหลายวิธีแต่ก็ยังไม่สำเร็จเสียที

 

ICSI หรือที่อ่านว่า อิ๊กซี่ ย่อมาจากคำว่า Intracytoplasmic sperm injection หมายถึง วิธีการช่วยการมีบุตรยากโดยการปฏิสนธินอกร่างกาย เป็นเทคนิคทางห้องปฏิบัติการเลี้ยงตัวอ่อน โดยการเลือกอสุจิภายใต้กล้องกำลังขยายสูงมากที่สามารถเห็นรายละเอียดความสมบูรณ์ของอสุจิได้เพิ่มขึ้น แล้วใช้เข็มแก้วขนาดเล็ก ดูดเลือกอสุจิขึ้นมาหนึ่งตัว แล้วใช้เข็มนั้นเจาะและฉีดอสุจิเข้าไปในไข่เพียงใบเดียว เพื่อช่วยให้เกิดการปฏิสนธิได้ง่ายขึ้น วิธีนี้เป็นวิธีที่ที่ทำได้ง่าย ไม่ทำให้ผู้รับการรักษารู้สึกเจ็บ เหมาะสำหรับผู้มีบุตรยากทั้งฝ่ายชายและหญิง

 

สำหรับในคุณแม่ แพทย์จะเริ่มจากการฉีดกระตุ้นไข่ในทุก ๆ วัน โดยเริ่มวันที่ประจำเดือนมาวันที่ 2-3 รวมเป็นเวลาประมาณ 10-12 วัน เพื่อให้ได้ไข่มากกว่าในภาวะปกติที่จะมีไข่ 1 ฟองต่อรอบเดือน ซึ่งคุณหมอจะฉีดยาจนได้ไข่ที่โตเต็มที่ โดยการตรวจติดตามด้วยการเจาะเลือดและอัลตราซาวด์ทุก 3-4 วัน เพื่อกำหนดวันเก็บไข่ ซึ่งจะใช้เข็มเจาะดูดออกทางช่องคลอด ไข่ที่ถูกเก็บออกมาจะถูกนำไปเตรียมให้พร้อมสำหรับการปฏิสนธิโดยวิธี ICSI หรืออิ๊กซี่ ไม่ต้องกังวลว่าจะเจ็บเนื่องจากขั้นตอนนี้จะมีการให้ยาสลบร่วมด้วยและจะไม่มีแผลทางหน้าท้องแน่นอน

 

สำหรับคุณพ่อที่มีลูกยาก แพทย์จะเริ่มเก็บน้ำเชื้อในวันเดียวกันกับวันที่คุณแม่เก็บไข่ ซึ่งน้ำเชื้ออสุจิที่ได้มา จะต้องผ่านขั้นตอนการเตรียมเพื่อคัดเลือกเฉพาะอสุจิที่สมบูรณ์แข็งแรง โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังสูงขยายดูรูปร่างหรือคัดเลือกโดยวิธีเฉพาะอื่น ๆ เพื่อหาตัวอสุจิที่ดีที่สุด แล้วจึงนำอสุจิตัวนั้นมาปฏิสนธิ ด้วยวิธีการ ICSI หรืออิ๊กซี่กับฟองไข่ที่เก็บได้ในขั้นตอนต่อไป

 

ฟังแบบนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่ผู้มีบุตรยากหลายคนอาจสงสัยว่า ระหว่างการทำเด็กหลอดแก้วหรือ IVF และการทำ ICSI หรืออิ๊กซี่ สองวิธีนี้แตกต่างกันอย่างไร สองวิธีนี้จะเหมือนกันตรงที่ ทั้งสองวิธีจะเป็นการรักษาภาวะมีบุตรยากโดยอาศัยการปฏิสนธินอกร่างกาย ต้องผ่านขั้นตอนการฉีดยากระตุ้นไข่ และการเก็บไข่เหมือนกัน แต่ความแตกต่างก็คือ ขั้นตอนในการปฏิสนธิ ในการทำเด็กหลอดแก้วหรือ IVF จะเป็นการนำไข่และอสุจิมาใส่รวมกัน แล้วให้อสุจิทำหน้าที่ของตัวเองในการเจาะไข่เข้าไปแล้วเกิดการปฏิสนธิขึ้นตามธรรมชาติ ในขณะที่การรักษาแบบ ICSI หรืออิ๊กซี่ จะเป็นการใช้เข็มแก้วขนาดเล็กฉีดอสุจิหนึ่งตัวเข้าไปในไข่ 1 ใบ เพื่อเพิ่มโอกาสในการปฏิสนธิ

 

การทำ ICSI หรืออิ๊กซี่ เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหามีบุตรยาก แต่งงานมาหลายปี ลองรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น IUI มาแล้วหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ คู่สามีภรรยาที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ผู้ชายที่เป็นหมัน น้ำเชื้ออสุจิน้อย แพทย์จะทำการดูดน้ำเชื้ออสุจิออกมาจากอัณฑะ แล้วนำมาเข้าสู่กระบวนการทำ ICSI ต่อไป หรือในผู้ชายอสุจิไม่แข็งแรง หรือผู้หญิงที่มีปัญหาที่มดลูก ตัดปีกมดลูก ท่อนำไข่ตีบตัน คนที่อายุเยอะ คนที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น คนที่มีกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (PCOS) ก็เหมาะที่จะทำ ICSI เช่นกัน

 

โดยขั้นตอนการทำ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์จะคัดไข่ 1 ใบ และอสุจิ 1 ตัว ที่แข็งแรงและสมบูรณ์ที่สุดมาผสมกัน ด้วยการใช้เข็มเจาะและฉีดอสุจิเข้าไปที่เนื้อไข่โดยตรง จากนั้นจะทำการเลี้ยงตัวอ่อนให้ได้ยาวนานที่สุดคือ 6 วัน หรือ Day 6 แล้วจึงนำตัวอ่อนกลับเข้าไปฝังที่โพรงมดลูกเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ต่อไป โดยในขั้นตอนการนำตัวอ่อนฝังไปที่โพรงมดลูก แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าควรย้ายตัวอ่อนรอบสดหรือรอบแช่แข็ง

 

หากจะทำการแช่แข็งตัวอ่อน ส่วนมากจะแช่แข็งตัวอ่อนใน Day 5 – 6 แต่บางเคสก็สามารถแช่แข็งที่ Day 2 – 3 ได้เช่นกัน (ขึ้นอยู่กับคุณภาพตัวอ่อนด้วย) ส่วนการใส่ตัวอ่อนรอบสด จะใส่หลังจากที่ทำ ICSI หรืออิ๊กซี่ ใน Day 5 – 6 แต่ถ้าคุณภาพของตัวอ่อนไม่ค่อยดี จะใส่ที่ Day 3 และหากจะทำให้การรักษาภาวะการมีบุตรยากให้มีโอกาสสำเร็จสูงและแน่ใจได้ว่าตัวอ่อนที่ได้นั้น จะเป็นตัวที่สมบูรณ์จริง ๆ ควรต้องตรวจ โครโมโซม NGS ร่วมด้วย

 

อีกหนึ่งขั้นตอนของ ICSI คือ การตรวจโครโมโซม NGS เป็นการตรวจความผิดปกติของโครโมโซมเพื่อดูคุณภาพของตัวอ่อนว่ามีการแบ่งตัวที่ไม่สมบูรณ์หรือความผิดปกติของพันธุกรรมที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือไม่ ซึ่งการตรวจโครโมโซม NGS จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคทางพันธุกรรม ลดความเสี่ยงต่อภาวะแท้งซ้ำซ้อน และยังเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ให้มากขึ้นอีกด้วย

 

การตรวจ NGS นั้นไม่จำเป็นต้องตรวจทุกคนก็ได้ จะตรวจหรือไม่ตรวจก็ได้ แต่แพทย์ตามโรงพยาบาลและคลินิกเฉพาะทางมักจะแนะนำให้ตรวจ หากเคยทำเด็กหลอดแก้วมาก่อนแต่ไม่สำเร็จโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีภาวะแท้งซ้ำซาก หรือในคู่สามีและภรรยาที่มีอายุมากกว่า 38 ปี หรือเคยมีประวัติการตั้งครรภ์เด็กที่มีโครโมโซมผิดปกติมาก่อน เช่น ภาวะดาวน์ซินโดรม

 

ในขั้นตอนการทำ ICSI หรืออิ๊กซี่นั้นอาจจะเจ็บบ้างเล็กน้อย เช่น ในขั้นตอนการกระตุ้นไข่ที่ในคนไข้บางรายอาจจะต้องกระตุ้นโดยการฉีดยา และขั้นตอนตอนเก็บไข่ซึ่งถึงแม้ว่าแพทย์จะวางยาสลบ แต่หลังจากที่เก็บไข่ไปแล้วอาจจะมีอาการปวดหน่วง ๆ บริเวณท้องน้อยหรือบริเวณอุ้งเชิงกรานเล็กน้อย ซึ่งอาการจะหายไปเองหลักจากการพักผ่อนประมาณ 1-2 วัน

 

อัตราการประสบความสำเร็จของการทำ ICSI หรืออิ๊กซี่ ขึ้นอยู่กับอายุของฝ่ายหญิงผู้ที่เข้ารับการรักษาเพราะหากอายุยิ่งมากขึ้น คุณภาพของไข่ก็จะยิ่งลดน้อยลง จำนวนไข่ที่ได้จากการกระตุ้นว่าจำนวนเยอะเท่าไร คุณภาพของไข่ที่ได้จากการกระตุ้นในครั้งนั้น มีคุณภาพมากน้อยเท่าไร รูปร่างและความแข็งแรงของอสุจิ ความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูกของฝ่ายหญิงในวันที่ทำการย้ายตัวอ่อนนั้น มีความเหมาะสมเพียงพอหรือไม่  ซึ่งหากทั้ง 5 ข้อข้างต้นนั้นว่าที่คุณแม่ไม่ปัญหาอะไร แต่การตั้งครรภ์ภายหลังจากการฝังตัวอ่อนก็ยังไม่สำเร็จผลสักที ในส่วนนี้แพทย์อาจจะวินิจฉัยว่า คุณแม่ที่อยากตั้งครรภ์อยู่ในภาวะตัวอ่อนไม่ฝังตัวซ้ำซ้อน

 

ภาวะตัวอ่อนไม่ฝังตัวซ้ำซ้อน (Repeat implantation failure) เป็นอาการของผู้ที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ถึงแม้ว่าจะมีการย้ายตัวอ่อนคุณภาพดีหลายรอบ โดยแพทย์จะแบ่งอาการและเกณฑ์การวินิจฉัยหลายแบบที่ในหลาย ๆ คู่อาจจะมีสาเหตุและอาการไม่เหมือนกัน เช่น ภาวะไม่เกิดการตั้งครรภ์ ภายหลังการย้ายตัวอ่อนที่มีคุณภาพดี 12 ตัวขึ้นไป ภาวะไม่ตั้งครรภ์ภายหลังการตัวอ่อนคุณภาพดีจำนวน 10 ตัวอ่อนขึ้นไป หรือ ทำการย้ายมากกว่า 4 ครั้งขึ้นไป ภาวะไม่ตั้งครรภ์ภายหลังการย้ายตัวอ่อนคุณภาพดี 3 ครั้งขึ้นไป โดยมีตัวอ่อนคุณภาพดีไม่น้อยกว่า 2 ตัวอ่อนขึ้นไป

 

ปัจจัยทำให้ตัวอ่อนไม่ฝังตัวอาจเกิดมาจากตัวอ่อนโดยตรง โดยสาเหตุอันดับหนึ่งที่เกิดขึ้นได้มาจากตัวอ่อนโดยตรงซึ่งถึงแม้ว่าตัวอ่อนทุกตัวนั้นจะอยู่เพาะเลี้ยงตัวในห้องปฏิบัติการในอุณหภูมิที่เหมาะสมและได้รับการดูแลจากนักวิทยาศาสตร์ แต่ในการเพราะเลี้ยงนั้นก็อาจจะได้ทั้งตัวอ่อนที่มีคุณภาพและตัวอ่อนที่ไม่สมบูรณ์ได้ การที่ได้ตัวอ่อนไม่สมบูรณ์จากการเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการอาจเกิดจากการเลี้ยงในอุณหภูมิที่ทำให้ตัวอ่อนพัฒนาการช้า หรือพัฒนาการไม่สมบูรณ์ได้ซึ่งเมื่อนำไปฝังในโพรงมดลูกจึงทำตัวอ่อนไม่ฝังตัว หรืออีกนัยหนึ่งก็อาจจะเกิดจากการคัดเลือกตัวอ่อนเพื่อใส่กลับโพรงมดลูกจากแพทย์เองที่อาจจะไม่ทราบว่าเป็นตัวอ่อนที่ไม่สมบูรณ์ เพราะรูปร่างและหน้าตาของของตัวอ่อนเหมือนกัน จึงทำให้อาจจะเลือกผิดพลาดได้

 

ปัจจัยทำให้ตัวอ่อนไม่ฝังตัวยังอาจเกิดจากคุณภาพโพรงมดลูกที่ฝัง เนื่องจากในการฝังตัวอ่อนนั้น คุณภาพโพรงมดลูกก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์ที่ถึงแม้ว่าตัวอ่อนที่คัดมาจะมีคุณภาพดีมากแค่ไหน ถ้าหากโพรงมดลูกไม่มีคุณภาพพอตัวอ่อนก็ไม่สามารถฝังได้และยิ่งหากถ้ามีการตรวจเจอติ่งเนื้อในโพรงมดลูก หรือเนื้องอกในโพรงมดลูกก็จะส่งผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อนยากขึ้นอีกด้วย

 

ปัญหาที่ทำให้ตัวอ่อนไม่ฝังตัว ยังอาจเกิดจากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ เช่น กลุ่มคนที่เป็นโรคของต่อมไทรอยด์ที่มีระดับโปรแลกตินในเลือดสูงกว่าปกติ อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ตั้งครรภ์ยากกว่าปกติ แต่อาการเหล่านี้นั้นสามารถป้องกันได้หากมีการแจ้งแพทย์ในโรงพยาบาลหรือคลินิกเฉพาะทางก่อนทำ ICSI หรืออิ๊กซี่ หรือมีการตรวจเลือดเพื่อคัดกรอง หาสาเหตุและทำการรักษาก่อน

 

นอกจากสาเหตุที่กล่าวมาข้างบนแล้วยังสามารถเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีก เช่น ปัจจัยระหว่างการเคลื่อนย้ายตัวอ่อนเพื่อนำไปฝังในโพรงมดลูกที่อาจจะใส่ยากกว่าปกติ หรือฝ่ายหญิงมีปากมดลูกตีบหรืองอทำให้การใส่ตัวอ่อนใช้เวลานานทำให้อุณหภูมิในตัวอ่อนแปรปรวนอาจส่งผลต่อคุณภาพของตัวอ่อนได้  หรือปัญหาเรื่องของความเป็นกรดด่างที่ของน้ำยาเลี้ยงตัวอ่อน ซึ่งทั้งหมดนี้นั้นสามารถส่งผลให้ตัวอ่อนไม่ฝังตัวได้ทั้งสิ้น

 

ดังนั้น แนวทางในการแก้ไข ภาวะตัวอ่อนไม่ฝังตัวสามารถแก้ไขได้ด้วย

  1. การเพิ่มจำนวนตัวอ่อนเพื่อฝังในโพรงมดลูกให้เยอะมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการฝังตัว แต่ควรจะระมัดระวังภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์แฝด ซึ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
  2. ย้ายตัวอ่อนในระยะวันที่ 5 หรือระยะบลาสโตซิสท์ (Blastocyst) แทนที่จะใช้ตัวอ่อนระยะวันที่ 3 ซึ่งในการย้ายตัวอ่อนนำมาใส่ในช่วงระยะนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ตัวอ่อนฝังตัวมากขึ้น
  3. การจ่ายยาบำรุงฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพื่อบำรุงครรภ์ให้มากขึ้น เพื่อช่วยในการพยุงการตั้งครรภ์และหลังการย้ายตัวอ่อนเป็นไปอย่างราบรื่น
  4. หากแพทย์วินิจฉัยว่า ฝ่ายหญิงที่มีการฝังตัวอ่อนมีภาวะเสี่ยงต่ออาการ Auto-Immune แพทย์อาจจะจ่ายยาแอสไพรินหรือยาเฮปปาริน เพิ่มเพื่อให้โอกาสการตั้งครรภ์มีมากขึ้น
  5. การใช้ตัวอ่อนแช่แข็ง เพื่อเลี่ยงยาฉีดกระตุ้นในมดลูกมากเกินไปซึ่งอาจมีผลต่อตัวรับที่มดลูกที่อาจจะหนักเกินไป เพื่อจะดูว่าระหว่างย้ายตัวอ่อนรอบสดและรอบแช่แข็ง แบบไหนได้ผลดีที่สุด
  6. การตรวจภายในอย่างละเอียดก่อนการทำ ICSI หรืออิ๊กซี่ เพื่อหาสาเหตุที่อาจจะส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ยาก หรือทำให้ตัวอ่อนฝังตัวได้ยากในอนาคต เช่น พังผืดในช่องท้อง เนื้องอก หรือติ่งเนื้อ เพื่อให้แพทย์สามารถแก้ไขได้ก่อน

 

มักมีคำถามน่ารู้เกี่ยวกับขั้นตอนย้ายตัวอ่อนว่า การย้ายตัวอ่อนรอบสดหรือแช่แข็งดีกว่ากัน โดยปกติแล้วการย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็งจะมีโอกาสสำเร็จมากกว่าการย้ายตัวอ่อนสด เพราะว่าคนไข้สามารถมีเวลาในการเตรียมความพร้อมของมดลูกและหากมีการตรวจโครโมโซม NGS ร่วมด้วยก็จะยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ให้มากขึ้นอีกด้วย

 

ส่วนที่มีความเชื่อกันว่า เด็กหลอดแก้วด้วยวิธี ICSI หรืออิ๊กซี่ ครรภ์จะเสี่ยงภาวะแท้งง่ายกว่าปกตินั้นไม่เป็นความจริง เพราะภาวะแท้งนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย สามารถเกิดได้ทั้งกับครรภ์ปกติและครรภ์จากเทคโนโลยีทางการแพทย์ ขึ้นอยู่กับคุณภาพ ความพร้อม และหลักการปฏิบัติตัวของผู้ที่ตั้งครรภ์ และความเชื่อว่าเด็กหลอดแก้วที่เกิดจากวิธี ICSI หรืออิ๊กซี่ จะอ่อนแอนั้น ก็ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าจะทำให้เด็กที่เกิดมาด้วยวิธีนี้จะอ่อนแอ ป่วยง่ายกว่าเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แบบปกติอีกด้วย

 

อ้างอิง

https://worldwideivf.com/about-icsi/faqs-icsi/

https://bit.ly/3HACHr4

https://bit.ly/3Qw9YYl

 

สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาภาวะมีบุตรยาก

กับศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากจินตบุตร