กฎหมายต้องรู้ก่อนจะทำอุ้มบุญ

 

     ในปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 ที่ให้ความคุ้มครองเด็กที่เกิดขึ้นจากการทำอุ้มบุญเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายของคู่สามีภรรยาที่ประสงค์จะมีบุตรอันเนื่องมาจากกรณีที่ฝ่ายภรรยาไม่สามารถจะตั้งครรภ์เองได้ โดยที่การทำอุ้มบุญจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนด คือมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ชัดเจนและต้องได้รับหนังสืออนุมัติจากคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (กคทพ) รวมทั้งจะต้องไม่ใช่เป็นการรับจ้างอุ้มบุญด้วย

คู่สามีภรรยาที่มีบุตรยาก
• สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งภริยาไม่อาจตั้งครรภ์ได้ที่ประสงค์จะมีบุตรโดยให้หญิง
• อื่นตั้งครรภ์แทน ต้องมีสัญชาติไทย
• ในกรณีที่สามีหรือภริยามิได้มีสัญชาติไทย ต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี

คุณสมบัติของหญิงรับอุ้มบุญ


 

     หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ในกรณีที่ไม่มีญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ให้หญิงอื่นรับตั้งครรภ์ แทนได้ หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องมิใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดานของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นหญิงที่เคยมีบุตรมาก่อนแล้วเท่านั้นโดยการคลอดตาม ธรรมชาติไม่เกิน ๓ ครั้ง หรือในกรณีที่ผ่าคลอดไม่เกิน ๑ ครั้ง หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องมีสัญชาติเดียวกันกับสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะมีบุตร หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน ๔๐ ปีบริบูรณ์ ถ้าหญิงนั้นมีสามีที่ชอบด้วยกฎหมายหรือชายที่อยู่กินฉันสามีภริยา จะต้องได้รับความยินยอมจากสามีที่ชอบด้วยกฎหมายหรือชายดังกล่าวด้วย

การทำอุ้มบุญต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

การดำเนินการอุ้มบุญให้กระทำได้สองวิธี
• ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีและไข่ของภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทน หรือ
• ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีหรือไข่ของภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทนกับไข่หรืออสุจิของผู้อื่น
• แต่ห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน

ต้องได้รับหนังสืออนุมัติก่อนที่จะทำอุ้มบุญ
• ผู้ให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์จะดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนให้แก่สามีและภริยาตามรายใดได้
ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (กคทพ) ให้ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนให้แก่สามีและภริยารายนั้น
• ผู้ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อห้ามทางกฎหมาย
• ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการเป็นคนกลางหรือนายหน้า โดยเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นการตอบแทนในการจัดการหรือชี้ช่องให้มีการรับตั้งครรภ์แทน
• ห้ามมิให้ผู้ใดดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า เช่น การรับจ้างอุ้มบุญ
• ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือไขข่าวให้แพร่หลายด้วยประการใด ๆ เกี่ยวกับการตั้งครรภ์แทนว่ามีหญิงที่ประสงค์จะเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทนผู้อื่น หรือมีบุคคลที่ประสงค์จะให้หญิงอื่นเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทน ไม่ว่าจะได้กระทำเพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือไม่ก็ตาม
• ผู้ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

หน้าที่ความรับผิดชอบต่อกัน
• หญิงตั้งครรภ์แทนจะต้องดูแลทารกในครรภ์เช่นวิญญูชนพึงกระทำ
• สามีและภริยาที่ประสงค์จะมีบุตรจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการรักษาตามกระบวนการตั้งครรภ์แทน ค่าใช้จ่ายในการบำรุงสุขภาพของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน ทั้งในระหว่างตั้งครรภ์ การคลอดและระยะหลังคลอดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาความเจ็บป่วยทางสุขภาพอันเกิดจากการตั้งครรภ์แทน วิธีปฏิบัติเมื่อตั้งครรภ์แล้ว เมื่อหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนจะไปฝากครรภ์หรือไปคลอดบุตรยังสถานพยาบาลใด ให้นำข้อตกลงไปแสดงต่อแพทย์ผู้รับฝากครรภ์หรือผู้ที่จะทำคลอด ณ สถานพยาบาลแห่งนั้นเพื่อเป็นหลักฐานในการออกหนังสือรับรองการเกิดและการแจ้งการเกิดของเด็กต่อไป เมื่อเด็กคลอดแล้ว ให้สามีภรรยาที่ประสงค์จะมีบุตรมีหน้าที่แจ้งการเกิดของเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนต่อนายทะเบียนที่เขตหรืออำเภอเพื่อออกสูติบัตร

ความเป็นบิดามารดา
   

 

     ให้เด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของสามีภรรยาที่ประสงค์จะมีบุตร ห้ามมิให้สามีภรรยาที่ประสงค์จะมีบุตรปฏิเสธการรับเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทน

     ตามกฎหมายฉบับนี้ ในปัจจุบันประเทศไทยได้จึงมีการรับรองและคุ้มครองการทำอุ้มบุญว่าสามารถกระทำได้โดยถูกต้องตามกฎมาย รวมทั้งให้การรับรองสถานภาพของเด็กที่เกิดขึ้นมาให้เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของคู่สามีภรรยาที่ประสงค์จะมีบุตร ซึ่งจะทำให้ปัญหาที่เคยมีมาแต่อดีตในเรื่องการเรียกร้องสิทธิในตัวเด็กจะไม่มีอีกต่อไป โดยนายทะเบียนเขตหรืออำเภอจะเป็นผู้ออกหนังสือรับรองในสูติบัตรว่าคู่สามีภรรยาที่ประสงค์จะมีบุตรเป็นบิดาและมารดาของเด็กเกิดขึ้นตามกฎหมาย

 

 

สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาภาวะมีบุตรยาก

กับศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากจินตบุตร

 

 

แพ็คเกจเด็กหลอดแก้ว ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากจินตบุตร