คุณพ่อที่ไม่มีตัวอสุจิ อสุจิไม่แข็งแรง มีบุตรยาก...จะมีบุตรได้มั้ย?

 

คุณพ่อที่ไม่มีตัวอสุจิ อสุจิไม่แข็งแรง มีบุตรยาก...จะมีบุตรได้มั้ย?

 

คุณพ่อที่ไม่มีตัวอสุจิ อสุจิไม่แข็งแรง มีบุตรยาก...จะมีบุตรได้มั้ย?

รู้หรือไม่ว่ากว่า 40 % ของคู่รักที่มีบุตรยาก อยากตั้งครรภ์นั้นมีสาเหตุมาจากฝ่ายชาย ซึ่งภาวะเจริญพันธุ์ของผู้ชายนั้นขึ้นอยู่กับฮอร์โมนเพศชายจากอัณฑะที่ถูกควบคุมด้วยสมองส่วนไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) และต่อมใต้สมอง สาเหตุที่ทำให้คุณผู้ชายเกิดภาวะมีบุตรยาก มีหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น การอักเสบติดเชื้อที่ลูกอัณฑะ หลอดเลือดดำในถุงอัณฑะโป่งพอง ท่อนำอสุจิตัน หรืออาจเกิดจากความผิดปกติที่สมองส่วนไฮโปธาลามัสและต่อมใต้สมอง เป็นต้น

 

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับอสุจิกันก่อน “น้ำเชื้อ” หรือ “น้ำอสุจิ” (Semen) ประกอบด้วยตัวอสุจิและน้ำหล่อเลี้ยงต่าง ๆ เป็นของเหลวที่มีลักษณะสีขาวข้น โดยจะหลั่งออกมาจากคุณผู้ชายเมื่อถึงจุดสุดยอดของการมีเพศสัมพันธ์ หรือจากวิธีช่วยตัวเอง หรือขับมาตามธรรมชาติที่เรียกว่า ฝันเปียก (Wet Dream) โดยในการหลั่งน้ำอสุจิแต่ละครั้งจะหลั่งออกมาประมาณ 3 – 4 มิลลิลิตร และมีจำนวนอสุจิเฉลี่ยประมาณ 300 – 500 ล้านตัว

 

สาเหตุที่ทำให้อสุจิของฝ่ายชายอ่อนแอ อาจเกิดจากปัจจัยหรือพฤติกรรมที่ทำให้อสุจิไม่แข็งแรงดังต่อไปนี้

  • การสร้างตัวของอสุจิที่ผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หรืออาจเกิดจากการอักเสบของลูกอัณฑะ
  • ความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์ตั้งแต่กำเนิด เช่น ลูกอัณฑะไม่ลงในถุงอัณฑะ
  • ความผิดปกติของการทำงานของต่อมไร้ท่ออื่น ๆ
  • ยา การฉายแสง หรือเคมีบำบัดบางชนิด
  • ความผิดปกติของภูมิคุ้มกันทำให้ร่างกายสร้างสารที่เป็นอันตรายต่ออสุจิ
  • สารเคมีบางชนิดที่อาจเข้าสู่ร่างกายทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ตะกั่ว ทองแดง ยาฆ่าแมลง
  • สุรา บุหรี่และยาเสพติด ทำให้การผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและการสร้างตัวอสุจิน้อยลง
  • ความเครียด เพราะความเครียดมีผลต่อฮอร์โมนที่ร่างกายใช้ผลิตอสุจิ และทำให้อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัวขณะมีเพศสัมพันธ์ด้วย
  • ความร้อนบริเวณถุงอัณฑะ เพราะอุณหภูมิร่างกายที่เพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อร่างกาย ทำให้ผลิตอสุจิยากขึ้น
  • การออกกำลังกายที่มากเกินพอดี ก็ทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำส่งผลทำให้ร่างกายผลิตอสุจิลดลง
  • ความอ้วนก็เป็นอีกสาเหตุ เพราะจากรายงานทางการแพทย์พบว่า ชายที่อ้วน มีน้ำหนักตัวมาก จะมีปริมาณน้ำเชื้อและจำนวนตัวอสุจิน้อย

 

ดังนี้ คุณผู้ชายทั้งหลายที่วางแผนสร้างครอบครัว ทางที่ดีควรเริ่มเตรียมความพร้อม ด้วยการหมั่นไปตรวจสุขภาพและเข้ารับการตรวจวิเคราะห์อสุจิหรือสเปิร์ม (Semen Analysis) เพื่อดูว่าอสุจิของคุณมีความแข็งแรงหรือไม่ เพื่อให้คุณสามาารถดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม ซึ่งการตรวจสเปิร์มในผู้ชายคือ วิธีการทดสอบหาปริมาณ จำนวน การเคลื่อนไหวและความผิดปกติของเชื้ออสุจิ เพื่อหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยากในผู้ชายด้วยการเก็บน้ำอสุจิใส่ลงในภาชนะพลาสติกปราศจากเชื้อที่ห้องปฏิบัติการได้จัดเตรียมไว้ให้

 

สำหรับคุณพ่อผู้มีบุตรยาก อยากให้คู่รักของคุณประสบความสำเร็จตั้งครรภ์ ที่ต้องการตรวจคุณภาพของอสุจิ จะมีขั้นตอนการเก็บน้ำอสุจิอะไรบ้าง เริ่มต้นจากควรงดการมีเพศสัมพันธ์และหลั่งอสุจิ เป็นเวลาอย่างน้อย 2-3 วัน ก่อนเก็บน้ำอสุจิควรล้างมือและอวัยวะเพศให้สะอาด แล้วเช็ดให้แห้งก่อนการเก็บน้ำอสุจิ ส่วนเก็บน้ำอสุจินั้นจะเก็บด้วยวิธี Masturbation ที่สำคัญระหว่างการเก็บน้ำอสุจิควรหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสภายในภาชนะเก็บน้ำเชื้อ ข้อควรรู้คือ ห้ามเก็บโดยใช้ถุงยางอนามัย เพราะสารหล่อลื่นในถุงยางอนามัยสามารถทำให้อสุจิตายได้ นอกจากนี้ ต้องเก็บเชื้อใส่ภาชนะที่สะอาดและผ่านการฆ่าเชื้อแล้วเท่านั้น และห้ามนำน้ำเชื้ออสุจิใส่ตู้เย็นหรือแช่น้ำแข็ง

 

สำหรับวิธีการตรวจอสุจินั้น ในทางการแพทย์สามารถแบ่งออกเป็น 2 วิธีคือ วิธีแรกคือ การตรวจด้วยตาเปล่า (Macroscopic Examination) ปริมาตร (Volume) น้ำอสุจิปกติควรจะมีมากกว่าหรือเท่ากับ 1.5 มิลลิลิตร ความเป็นกรด-ด่าง (pH) น้ำอสุจิมีความเป็นด่างอ่อนๆ โดยมีค่าปกติมากกว่าหรือเท่ากับ 7.2 ความหนืด (Viscosity) น้ำอสุจิที่ปกติ เมื่อหยดด้วยไปเปตต์จะยืดยาวไม่เกิน 2 เซ็นติเมตร การละลายตัว (Liquefaction) การละลายตัวของน้ำอสุจิจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง

 

วิธีที่สองคือ การตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์ (Microscopic Examination) โดยจะเป็นการทดสอบอสุจิที่ยังมีชีวิต (Viability) ค่าปกติของอสุจิที่มีชีวิตต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 58% ความเข้มข้น (Sperm concentration) มีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 15 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร การเคลื่อนที่ของอสุจิ (Motility) ปกติควรจะมีอสุจิที่ยังเคลื่อนที่ได้อย่างน้อย 40% รูปร่างอสุจิ (Morphology) รูปร่างของอสุจิที่ปกติควรจะมีมากกว่า 4% เม็ดเลือดขาว (WBC) จำนวนเม็ดเลือดขาวได้ในน้ำอสุจิไม่ควรเกิน 1 ล้านเซลล์ต่อมิลลิลิตร ถ้ามีเม็ดเลือดขาวมากเกินกว่านี้ อาจมีการติดเชื้อ ส่วนเม็ดเลือดแดง (RBC) ค่าปกติเม็ดเลือดแดงน้อยกว่า 1 ล้านเซลล์ต่อมิลลิลิตร หากพบมากกว่านี้ อาจแสดงถึงการติดเชื้อหรือบาดเจ็บหลังจากการหลั่งน้ำอสุจิ

ทั้งนี้ความถูกต้องและแม่นยำของการตรวจนั้นขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวที่ดีของฝ่ายชาย โดยหลังจากการตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิข้างต้น แพทย์ในโรงพยาบาลหรือคลินิกเฉพาะทางจะทำการประเมินภาวะมีบุตรยาก และแนะนำแนวทางในการรักษาขั้นต่อไป เพื่อให้ว่าที่คุณพ่อผู้มีบุตรยากประสบความสำเร็จตามที่หวังและตั้งใจ

 

ในกรณีที่ฝ่ายชายไม่สามารถเก็บน้ำอสุจิด้วยวิธีช่วยตัวเองได้ ให้ใช้วิธีมีเพศสัมพันธ์กับภรรยา แล้วหลั่งเชื้ออสุจิออกมาภายนอกใส่ลงในภาชนะที่โรงพยาบาลและคลินิกจัดให้ แต่วิธีนี้อาจเก็บเชื้ออสุจิได้ไม่ทั้งหมดและทำให้คุณภาพลดลง ส่วนกรณีที่ฝ่ายชายไม่สะดวกเก็บน้ำอสุจิที่โรงพยาบาลและคลินิกเฉพาะทาง แพทย์จะทำการแนะนำให้เก็บเชื้ออสุจิที่บ้าน กรณีที่นำภาชนะไปเก็บเชื้ออสุจิที่บ้าน ให้นำเชื้ออสุจิส่งไปยังห้องปฏิบัติการภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากที่เก็บได้ และห้ามนำเชื้ออสุจิใส่ภาชนะที่บรรจุความเย็นหรือแช่แข็งโดยเด็ดขาด

 

หลังจากเก็บน้ำอสุจิเรียบร้อย ทางห้องปฏิบัติการใช้เวลาในการตรวจวิเคราะห์ ประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง โดยสามารถรอฟังผลได้ภายในวันนั้น หากไม่สะดวกแพทย์ของโรงพยาบาลหรือคลินิกจะโทรแจ้งผลให้ทราบ นอกจากนี้หากมีข้อบ่งชี้ต้องกลับมาตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิซ้ำ แนะนำให้เว้นระยะการตรวจเป็นเวลา 90 วัน เพื่อผลการตรวจที่ถูกต้องชัดเจน เนื่องจากกระบวนการสร้างตัวอสุจิจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการสร้างจากเซลล์ตั้งต้นจนกระทั่งพร้อมลำเลียงผ่านท่อนำอสุจิ

 

สำหรับผลวิเคราะห์หาสาเหตุของภาวะมีบุตรยากในฝ่ายชาย โดยการตรวจอสุจิว่าปกติหรือผิดปกติ สรุปว่าสามารถดูได้จาก 3 สิ่ง อย่างแรกดูได้จากปริมาตร โดยทั่วไปน้ำอสุจิที่หลั่งออกมาครั้งหนึ่งจะมีปริมาตร 2-6 มิลลิลิตร ถ้าหากมีปริมาตรที่น้อยกว่า 1.5 มิลลิเมตร แสดงว่าการหลั่งจากถุงเก็บน้ำเชื้อบกพร่อง อาจมีสาเหตุเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของอัณฑะ หรือเกิดจากท่อนำอสุจิตีบหรือตันได้

 

ส่วนด้านปริมาณ ตรวจความความเข้มข้นของตัวอสุจิ ต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 15 เซลล์ต่อมิลลิลิตร พร้อมทั้งดูการเคลื่อนไหวของอสุจิ มีการเคลื่อนที่ที่ดี คล่องแคล่ว ว่ายเก่ง ตรงตามคุณสมบัติที่ดีของอสุจิหรือไม่ โดยอสุจิที่เคลื่อนไหวได้ต้องมีมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 40 หากตัวอสุจิมีการเคลื่อนไหวไม่ดี จะส่งผลให้ไม่สามารถว่ายผ่านปากมดลูกของฝ่ายหญิงไปพบกับไข่ในท่อนำไข่ได้

 

สุดท้ายคือด้านรูปร่าง รูปร่างตัวอสุจิตามปกติจะมีส่วนหัว (Head) เป็นรูปวงรี ส่วนลำตัว (Midpiece) ป้อมและสั้นกว่าส่วนหางเล็กน้อย ส่วนหาง (Tail) จะยาวกว่าส่วนหัว 7-15 เท่า มีลักษณะค่อย ๆ เรียวเล็กลง เรื่อย ๆ ทำหน้าที่โบกพัดเพื่อเคลื่อนไหวไปข้างหน้า โดยปกติน้ำอสุจิที่หลั่งออกมาจะมีตัวอสุจิที่รูปร่างผิดปกติปะปนอยู่ด้วย แต่โดยปกติควรมีอสุจิที่รูปร่างปกติสวยงามอย่างน้อยร้อยละ 4 การที่อสุจิรูปร่างผิดปกติอาจส่งผลเสียทั้งต่อการเคลื่อนไหวและทำให้การเจาะผสมไข่เป็นไปได้ยาก

 

หากพบความผิดปกติของการตรวจเชื้ออสุจิ อาจจะต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม รวมทั้งทำการตรวจวิเคราะห์ทางด้านฮอร์โมน การตรวจลูกอัณฑะ และในบางครั้งอาจมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจโครโมโซมร่วมด้วย นอกจากนี้ การตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติของฮอร์โมนและโรคอื่น ๆ ก็สำคัญ เพราะเป็นการประเมินฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองและอัณฑะที่มีผลต่อการสร้างอสุจิ ในกรณีที่พบว่าฮอร์โมน FSH (Follicular-stimulating hormone) สูง หมายถึง มีความผิดปกติที่ลูกอัณฑะ ทำให้ลูกอัณฑะไม่สามารถสร้างตัวอสุจิได้ ผู้ป่วยที่พบว่ามีฮอร์โมนต่ำหมายถึง ต่อมใต้สมองมีความผิดปกติทำให้การสร้างอสุจิน้อยลง ในกลุ่มนี้จำเป็นต้องหาสาเหตุอื่นเพิ่มเติมด้วยการทำ MRI สมอง และในกลุ่มฮอร์โมนปกติก็อาจเกิดจากการอุดตันของท่อนำอสุจิ เป็นต้น

 

แล้วมีวิธีใดบ้างที่จะช่วยให้มีตัวอสุจิและนำมาใช้มีบุตรได้ หากตรวจแล้วพบว่าอสุจิไม่แข็งแรง น้ำเชื้อไม่มีตัวอสุจิ น้ำเชื้ออ่อน สามารถช่วยให้ฝ่ายชายที่ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยากเหล่านี้ มีบุตรของตนเองได้ด้วยการเก็บอสุจิจากอัณฑะโดยตรง ได้แก่ การใช้เข็มเจาะไปที่ท่อพักอสุจิ PESA (Percutaneous Epididymal Sperm Aspiration) คือ การใช้เข็มแทงผ่านผิวหนังบริเวณอัณฑะเข้าไปในท่อพักน้ำเชื้อ แล้วดูดน้ำอสุจิออกมา หรืออีกวิธีก็คือ การผ่าตัดเอาอสุจิออกจากเนื้ออัณฑะ TESE (Testicular Sperm Extraction) คือ ด้วยการผ่าตัดที่ใช้ใบมีดขนาดเล็กไม่เกิน 5 มิลลิเมตร ทำการเปิดแผลแล้วนำเอาเนื้ออัณฑะออกมาเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อนำไปสกัดเอาเฉพาะตัวอสุจิ โดยวิธีนี้จะในกรณีที่ใช้เข็มขนาดเล็กดูดแล้วปริมาณเนื้อที่ได้มีน้อยเกินไป ไม่เพียงพอต่อการสกัดหรือดูดไม่ได้เลย

 

อย่างไรก็ตาม วิธีนี้จำเป็นต้องทำควบคู่กับการกระตุ้นไข่เพื่อทำเด็กหลอดแก้วแบบ ICSI หรืออิ๊กซี่เท่านั้น ไม่สามารถใช้กับวิธี IUI ได้ โดยการเก็บอสุจิจากอัณฑะโดยตรงนี้มักทำในวันเดียวกับที่ฝ่ายหญิงทำการเก็บไข่เพื่อนำอสุจิที่ได้ไปปฏิสนธิกับไข่ได้ทันตามเวลาที่ต้องการและก่อนการเก็บน้ำเชื้อหรือผ่าตัดเก็บอสุจิออกมา

 

ฝ่ายชายควรเตรียมตัวไปให้พร้อม ทั้งเรื่องการรับประทานอาหารที่มีโภชนาการสูง เน้นโปรตีน อาหารที่บำรุงอสุจิ เช่น เมล็ดฟักทองที่มีธาตุสังกะสีสูงและมะเขือเทศที่ให้ไลโคปีนสูง ซึ่งมีงานวิจัยรับรองในการปรับปรุงคุณภาพของอสุจิ รวมทั้งดูแลร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายแต่พอดี พักผ่อนให้เพียงพอ งดดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ จะได้มีตัวอสุจิที่แข็งแรง เพิ่มโอกาสมีบุตรได้สูงขึ้น

 

ดังนี้ก็อาจสรุปข้อมูลทางการแพทย์ได้ว่า แม้ว่าฝ่ายชายน้ำเชื้อไม่มีตัวอสุจิ อสุจิไม่แข็งแรง น้ำเชื้ออ่อนก็สามารถจะมีบุตรได้ แต่ต้องเข้ารับการตรวจหาสาเหตุให้ทราบแน่ชัดก่อนว่าเกิดจากสาเหตุใดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเริ่มการรักษาที่เหมาะสม จะช่วยให้ผู้มีบุตรยากอยากตั้งครรภ์มีโอกาสที่จะมีบุตรมากขึ้น

 

คุณพ่ออยากมีบุตรหรืออยู่ในภาวะมีบุตรยาต้องเรียนรู้วิธีการรักษาและป้องกันภาวะมีบุตรยากควบคู่การเตรียมเข้ารับการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ด้วย เพราะภาวะมีบุตรยากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าเพศชายหรือเพศหญิง การดูแลตัวเองให้ดีไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสมีลูกในอนาคตให้กับคุณแม่ผู้มีบุตรยากอยากตั้งครรภ์อีกทางด้วย วิธีการที่ว่าได้แก่

  • ควบคุมน้ำหนัก ให้อยู่ในมาตรฐานที่เหมาะสม ผู้ชายที่มีค่า BMI มากกว่า 30 สามารถเพิ่มโอกาสของภาวะมีบุตรยากได้
  • เลือกรับประทานผักผลไม้ ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) เพื่อเสริมความแข็งแรงให้อสุจิ ซึ่งพบได้ในผักผลไม้สีเขียวเหลือง ถั่ว ปลา นม ไข่แดง ตับ ข้าวซ้อมมือ และขนมปังโฮลวีต นอกจากนี้ อาหารที่มีสังกะสีสูง เช่น หอยนางรม เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัวไม่ติดมัน เนื้อไก่ เนื้อลูกแกะ ผงโกโก้และช็อคโกแลต เช่น ไมโล โอวัลติน นมรสช็อคโกแลต ช็อคโกแลตแท่ง นม และ ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต เนย ชีสต์ ไข่ จมูกข้าว พบมากในข้าวกล้อง และรำข้าวซึ่งมีสังกะสีสูงกว่าข้าวขาวมาก ตับและน้ำมันจากตับ เช่น น้ำมันตับปลา ถั่วต่าง ๆ โดยเฉพาะถั่วลิสง หรือ ผลไม้เปลือกแข็งกระเทาะเปลือก เช่น อัลมอนด์ วอลนัท งา หรือ น้ำมันงา เมล็ดฟักทอง เมล็ดแตงโม เมล็ดทานตะวัน
  • ป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนหลายคน หรือป้องกันได้โดยการสวมใส่ถุงยางอนามัย
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ใส่ใจดูแลจิตใจ หลีกเลี่ยงความเครียด เพราะความเครียดจะรบกวนระบบสืบพันธุ์ และการผลิตอสุจิในเพศชาย ทำให้ผลิตได้น้อย
  • หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และการใช้ยาเสพติด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาและการรักษาบางประเภทที่ส่งผลต่อการเจริญพันธุ์ ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาในกลุ่มปิดกั้นแคลเซียม ยารักษาอาการซึมเศร้า ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย หากจำเป็นต้องใช้ก็ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

 

อ้างอิง

https://bit.ly/3xFM8AT

https://bit.ly/3mZNlyb

https://beyondivf.com/what-is-semen/

http://www.becomemom.com/content/202

 

 

สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาภาวะมีบุตรยาก

กับศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากจินตบุตร